PEDRO PARDO / AFP

คำแนะนำความปลอดภัยจากคณะกรรมาธิการความปลอดภัยสื่อ (CPJ): การนำเสนอข่าวไวรัสโคโรนา

ฉบับปรับปรุง 20 พฤษภาคม 2021

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ COVID-19 (โรคติดเชื้อใหม่ ไวรัสโคโรนา) เป็นโรคระบาดรุนแรงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2020 ปัจจุบันในหลายพื้ที่ทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง แต่บางพื้นที่ที่มีกาฉีดวัคซีนก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เช่นการเดินทางบ้างแล้ว ในขณะเดียวกันการพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ก็มีให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ 

ปัจจุบันนักข่าวทั่วโลกทำหน้าที่สำคัญในการสื่อสารให้สาธารณชนได้ทราบเกี่ยวกับข้อมูลของไวรัส และนโยบายในการจัดการกับไวรัสของรัฐบาล จากรายงานของ CPJ พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศมีการปราบปรามสื่อมวลชนที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นกลาง สื่อมวลชนถูกกดดันการทำงาน นอกจากนี้รายงานการสัมภาษณ์นักข่าวของ CPJ ยังพบด้วยว่าหลายครั้งสื่อมวลชนต้องเจอกับความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปปฏิบัติงาน สถานที่ที่ปฏิบัติงาน และการสัมภาษณ์แหล่งข่าว รายงานล่าสุดของ CPJ ยังพบว่าสื่อมวลชนบางส่วนถูกเซ็นเซอร์ข้อมูล ถูกจับกุม ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์จนทำให้ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในภาวะลำบาก เพียงเพราะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19

ดังนั้นนักข่าวและผู้ปฏิบัติงานด้านรายงานข่าวควรติดตามข้อมูลข่าวสารล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในท้องถิ่น สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดล่าสุดสามารถตรวจสอบได้จากศูนย์ข้อมูลโควิดของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์

ความปลอดภัยขณะปฏิบัติงานภาคสนาม

มาตรการการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ดังนั้นแผนการเดินทางไปปฏิบัติงานของคุณอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้กระทันหัน

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อได้ และข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลล์ ระบุว่าวัคซีนแต่ละชนิดให้ภูมิคุ้มกันที่ต่างกัน โดยเฉพาะในโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลยังคงจำเป็นอยู่

ผู้ปฏิบัติงานนำเสนอข่าว COVID-19 ควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยดังนี้:

ก่อนรับมอบหมายงาน

หากเป็นไปได้ ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพก่อนปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไปทำงานในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดหนัก

● ควรสัมภาษณ์แหล่งข่าวทางโทรศัพท์ หรือผ่านระบบออนไลน์แทนการสัมภาษณ์แบบเจอกันตัวต่อตัว เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ 

ข้อมูลจาก CDC ระบุว่า ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคอ้วน หรือเบาหวานมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจากการติดเชื้อ ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว รวมทั้งผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานภาคสนาม 

ในการเลือกพนักงานปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม ฝ่ายบริหารควรตระหนักถึงสถานการณ์ที่ผู้ปฏิบัติงานอาจถูกทำร้ายร่างกายอันเนื่องมาจากการถูกเหยียดเชื้อชาติ ดูได้จากตังอย่างของนิวยอร์กไทมส์ 

มาตรการห้ามการเดินทาง และการปิดประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างกระทันหัน ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานควรปรึกษากับฝ่ายบริหารว่าสามารถให้การสนับสนุนอะไรได้บ้างหากเกิดป่วยระหว่างปฏิบัติงาน หรือจำเป็นต้องถูกกักตัวในพื้นที่เป็นเวลานานๆ 

ผลกระทบทางสุขภาพจิต

ฝ่ายบริหารควรสอบถามถึงการใช้ชีวิตของนักข่าวในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ จากรายงานของสถาบันรอยเตอร์ และมหาวิทยาลัยออฟเฟิร์ดระบุว่า ถึงแม้นักข่าวคนดังกล่าวจะมีประสบการณ์การทำงานมานาน เนื่องจากพวกเขาอาจประสบปัญหาสภาวะทางจิตใจ และควรให้คำแนะนำและช่วยเหลือนักข่าวหากจำเป็น

ผู้ปฏิบัติงานควรระมัดระวังการนำเสนอข่าวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะพื้นที่ที่จัดให้มีการกักบริเวณโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุข หรือสถานพยาบาลต่างๆ สามารถอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤติได้จาก the DART Center for Journalism and Trauma และเว็บไซต์ CPJ’s Emergencies สำหรับคำแนะนำและช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสำหรับนักข่าวที่รายงานข่าวเกี่ยวกับ COVID-19

วิธีการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ และแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

หลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม/เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อย่างไรก็ตามบางประเทศอาจมีมาตรการที่แตกต่างกันไป หากคุณมีความจำเป็นต้องไปปฏิบัติงานในประเทศที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง คุณควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ แต่หากไม่จำเป็นเราไม่แนะนำให้คุณเดินทางไปในสถานที่เหล่านี้

● สถานที่ให้การรักษาทางการแพทย์

● บ้านพักคนชรา

บ้านของผู้ที่กำลังป่วย, ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์, ผู้สูงอายุ, หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

● สถานที่ทำงานที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคสูง (เช่น โรงงานผลิตอาหาร)

สถานที่เก็บศพ, หลุมฝังศพ, เมรุเผาศพ, หรือสถานที่จัดงานศพ 

● สถานที่ที่ใช้ในการกักตัว หรือพื้นที่ที่มีการกักตัว

● ชุมชนแออัด

ค่ายผู้ลี้ภัย หรือทัณฑสถานที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19

คำแนะนำเบื้องต้นเพื่อหลีกเหลี่ยงการติดเชื้อ

เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลขณะปฏิบัติงาน ถึงแม้มาตรการในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไป ระมัดระวังการอยู่ใกล้กับบุคคลที่มีอาการป่วยทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม และ/หรือเมื่อต้องสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอาการป่วย บุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย COVID-19 หรือผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ

ควรสัมภาษณ์แหล่งข่าวกลางแจ้ง หรือในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก (เช่น พื้นที่ที่เปิดหน้าต่าง) และหลีกเลี่ยงพื้นที่ขนาดเล็กและแออัด

หลีกเลี่ยงการจับมือ การกอด และจูบ

ควรยืนทำมุมให้ห่างจากแหล่งข่าวขณะสัมภาษณ์ ไม่ควรยืนหันหน้าเข้าแบบตรงๆ และเว้นระยะห่างระหว่างกัน

ล้างมืออย่างถูกวิธีอย่างน้อย 20 วินาทีด้วยน้ำและสบู่อย่างสม่ำเสมอ และเช็ดมือ หรือเป่ามือให้แห้งอย่างถูกวิธี คุณสามารถตรวจสอบวิธีการล้างมืออย่างถูกวิธี ตามคู่มือขององค์การอนามัยโลก

● ใช้เจลล้างมือ หรือทิชชู่เปียกเช็ดมือหากไม่สามารถหาสถานที่ที่ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ได้ อย่างไรก็ตามเราแนะนำให้ล้างมือกับน้ำและสบู่หากสามารถทำได้ (กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ แนะนำให้ใช้เจลล้างมือหรือทิชชู่เปียกที่มีส่วนผสมของเอทานอล 60% หรือไอโซโพรพานอล 70% ขึ้นไป) ไม่ควรทดแทนการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ด้วยเจลล้างมือหากไม่จำเป็น

● ปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม หากไอหรือจามใส่กระดาษทิชชู่ จะต้องทิ้งกระดาษนั้นลงถังขยะทันที และล้างมือทุกครั้งหลังจากไอหรือจาม

● หลีกเลี่ยงการจับใบหน้า, จมูก, ปาก, หู และส่วนต่างๆ ของใบหน้า ตามที่ปรากฎในเว็บไซต์ BBC

● หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม ร่วมกับผู้อื่น

● ผู้ที่มีผมยาวควรรวบผมให้เรียบร้อย

● ถอดนาฬิกาข้อมือ และเครื่องประดับต่างๆ หลังจากปฏิบัติงานเสร็จ เนื่องจากเชื้อ COVID-19 สามารถติดกับผิวสัมผัสต่างๆ ได้ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ตามประเภทของผิวสัมผัส

● หากคุณสวมใส่แว่น ควรถอดแว่นออกและทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่อย่างสม่ำเสมอ

● หลีกเลี่ยงการสวมคอนแทคเลนส์ขณะปฏิบัติงาน เนื่องจากผู้สวมคอนแทคเลนส์จะต้องสัมผัสดวงตาขณะสวมใส่ ซื่อเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

● ควรเลือกเสื้อผ้าในการใส่ปฏิบัติงานที่ทำความสะอาดได้ง่าย เมื่อปฏิบัติงานเสร็จควรทำความสะอาดเสื้อผ้าด้วยน้ำอุ่นและผงซักฟอกทันที

● หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เงินสดขณะปฏิบัติงาน และหมั่นทำความสะอาดบัตรเดบิต/เครดิต กระเป๋าสตางค์ และกระเป๋าถืออย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเอามือล้วงกระเป๋าเท่าที่จะเป็นไปได้

● ควรวางแผนการเดินทางให้รอบคอบก่อนปฏิบัติงาน หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หลังจากใช้บริการ

● ผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถยนต์ของบริษัทควรพึงระลึกเสมอว่า ไวรัสสามารถแพร่กระจายสู่บุคคลอื่นภายในรถได้ การลดกระจกลงเพื่อให้อากาศภายในรถถ่ายเท และการสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่บนรถสามารถช่วยได้

ควรหาเวลาหยุดพักระหว่างวัน พึงระลึกเสมอว่าการทำงานหนักจนเกินไปอาจส่งผลให้เราลืมวิธีการรักษาความสะอาดที่ถูกต้อง และอย่าลืมว่าผู้ปฏิบัติงานอาจต้องขับรถไป-กลับจากที่ทำงานเป็นระยะทางไกล ดังนั้นพวกเขาอาจรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาได้

อุปกรณ์การป้องกันส่วนบุคคล (PPE)

ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่ออาจจำเป็นจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล หรือ PPE ขณะปฏิบัติงานในบางพื้นที่ เช่น ถุงมือแบบใช้ครั้งเดียว หน้ากากอนามัย หรือชุดป้องกันตัวแบบใส่ครั้งเดียว

การถอดและสวมใส่อุปกรณ์ PPE จะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำด้านความปลอดภัยทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะวิธีการถอด เพราะหากคุณถอดไม่ถูกวิธีคุณอาจเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ คุณสามารถตรวจสอบข้อปฏิบัติได้จากเว็บไซต์ของ CDC หากคุณไม่มั่นใจในขั้นตอนการปฏิบัติ คุณควรสอบถามผู้เชี่ยวชาญก่อนออกไปปฏิบัติงาน 

บางประเทศอาจกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัว ดังนั้นควรพิจารณาการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ให้เหมาะสม

● สวมใส่อุปกรณ์ PPE ที่มีขนาดเหมาะสมกับตัวผู้ปฏิบัติงาน การสวมใส่อุปกรณ์ที่มีขนาดไม่เหมาะสมอาจทำให้อุปกรณ์ฉีกขาด และ/หรือทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก และชุดที่หลวมเกินไปอาจจะไปเกี่ยวถูกสิ่งของต่างๆ เช่นกลอนประตู จนชุดฉีกขาดได้

● สวมใส่อุปกรณ์ป้องตัวที่ผลิตโดยบริษัทที่ได้รับความเชื่อถือ ปฏิบัติตามคู่มือความปลอดภัย และระมัดระวังอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งระมัดระวังอุปกรณ์ปลอม คุณสามารถตรวจสอบแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อถือได้ที่นี่ 

● สวมใส่ถุงมือหากต้องทำงานในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ เช่นสถานพยาบาล ถุงมือไนไตรล์สามารถป้องกันเชื้อได้ดีกว่าถุงมือลาเท็กซ์

● หากต้องรายงานข่าวจากสถานที่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง เช่นสถานพยาบาล ผู้ปฏิบัติงานจะต้องสวมใส่ชุดป้องกันแบบเต็มตัว รวมทั้งหน้ากากที่สามารถป้องกันได้ทั้งใบหน้า

● เข้าห้องสุขาให้เรียบร้อยก่อนสวมใส่ชุดป้องกันแบบเต็มตัว

● ในบางสถานการณ์ ผู้ปฏิบัติงานอาจต้องสวมใส่รองเท้าแบบใส่แล้วทิ้ง หรือรองเท้ากันน้ำ ซึ่งต้องล้างให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนออกจากสถานที่ปฏิบัติงานทุกครั้ง สำหรับรองเท้าใส่แล้วทิ้ง หรือถุงคลุมรองเท้าแบบใส่แล้วทิ้งจะต้องทิ้งหรือกำจัดอย่างถูกวิธีก่อนออกจากสถานที่ที่ปฏิบัติงาน

● เราแนะนำให้การใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว หรือ PPE ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ และพึงระลึกเสมอว่าโอกาสการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้เสมอ คุณสามารถศึกษาวีดีโอวิธีการ สวมใส่ และ การถอด อุปกรณ์ป้องกันตัวจาก CDC อย่างไรก็ตามคลิปนี้ไม่สามารถทดแทนการฝึกอบรมแบบตัวต่อตัวได้ 

● ไม่ควรนำถุงมือ ชุดคลุมตัว ผ้ากันเปื้อน และถุงคลุมรองเท้าแบบใช้แล้วทิ้งกลับมาใช้ซ้ำ อุปกรณ์ใดที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำต้องผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทุกครั้ง และต้องทิ้งอุปกรณ์ป้องกันตัวอย่างถูกวิธีก่อนออกจากสถานที่ปฏิบัติงาน

หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย

การสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีถือว่าสำคัญมากสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อสูง และพื้นที่แออัด เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อของสารคัดหลังมากกว่าพื้นที่อื่นๆ 

การใช้หน้ากากอนามัยอย่างไม่ถูกวิธีอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ ผลการศึกษาของแลนเซตพบว่าเชื้อสามารถติดอยู่บนหน้ากากอนามัยได้นานถึง 7 วัน ดังนั้นการใช้หน้ากากซ้ำ หรือไปจับใบหน้าโดยไม่ได้ล้างมือหลังจากถอดหน้ากากออกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

ข้อปฏิบัติสำหรับการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า:

● หากคุณมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในพื้นที่แออัด หรือใกล้ชิดบุคคลอื่นมากๆ ควรสวมใส่หน้ากากประเภท N95 (หรือ FFP2/FFP3) แทนการสวมหน้ากากอนามัยทั่วไป

● ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าสวมหน้ากากครอบปาก จมูก และคาง โดยให้มีช่องว่างระหว่างหน้ากากและใบหน้าน้อยที่สุด

● การโกนหนวดเคราจะช่วยลดช่องว่างระหว่างหน้ากากกับผิวหน้าได้ดี

● การใช้หน้ากากอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญ หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณผิวด้านหน้าของหน้ากาก ถอดหน้ากากด้วยการดึงหูจับด้านข้าง และหลีกเลี่ยงการขยับหน้ากากโดยไม่จำเป็น และล้างมือหลังจากสัมผัสหน้ากาก

การใช้หน้ากากอนามัยซ้ำมีความเสี่ยงติดเชื้อสูง ทิ้งหน้ากากทุกครั้งหลังจากใช้เสร็จด้วยการนำใส่ถุงปิดปากให้สนิทก่อนนำไปทิ้งในถังขยะ

● ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นหลังจากถอดหน้ากาก หรือล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล (ส่วนผสมเอทานอลอย่างน้อย 60% หรือไอโซโพรพานอลอย่างน้อย 70%) อย่างไรก็ตาม การล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่ถือว่ายังจำเป็นและควรปฏิบัติเมื่อมีโอกาส

● เปลี่ยนหน้ากากใหม่ทุกครั้งหากสภาพหน้ากากเริ่มยุ่ยหรือเปียกชื้น

● จำไว้เสมอว่า การสวมหน้ากากจะต้องควบคู่ไปกับการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก ปาก และใบหู

● ในบางพื้นที่หน้ากากอนามัยอาจมีปริมาณจำกัด หรือราคาสูง ควรตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนซื้อ


ความปลอดภัยด้านการใช้อุปกรณ์ทำงาน

ความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 จากการสัมผัสอุปกรณ์การทำงานเป็นเรื่องจริง การทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้งานอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งจำเป็น:

หากเป็นไปได้ควรใช้ไมโครโฟนแบบมีขา และอยู่ในระยะห่างจากแหล่งข่าวขณะสัมภาษณ์ ไมโครโฟนแบบเหน็บเสื้อควรใช้ต่อเมื่อมีข้อจำกัดด้านสถานที่ และควรปฏิบัติตามมาตรการความสะอาดอย่างเคร่งครัดขณะใช้งานเสร็จ

ฟองน้ำคลุมหัวไมโครโฟนควรได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังจากปฏิงานเสร็จ โปรดตรวจสอบวิธีการทำความสะอาดฟองน้ำคลุมหัวไมโครโฟนอย่างถูกวิธี และหลีกเลี่ยงหัวไมโครโฟนแบบกันลม เนื่องจากหัวไมโครโฟนประเภทนี้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ยาก

ใช้หูฟังราคาถูกที่สามารถถอดทิ้งได้ โดยเฉพาะหากต้องใช้กับแหล่งข่าว ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อหูฟังก่อนและหลังการใช้งาน

ใช้เลนส์แบบจับภาพระยะไกลได้ เพื่อให้ช่างภาพและกล้องถ่ายภาพไม่ต้องตั้งประชิดแหล่งข่าวมากจนเกินไป

หากเป็นไปได้ควรใช้อุปกรณ์แบบไร้สายแทนอุปกรณ์ที่ต้องใช้สายเชื่อมต่อขณะปฏิบัติงาน

เก็บอุปกรณ์ต่างๆ หลังใช้งานให้เป็นระเบียบ เก็บอุปกรณ์ใส่กล่องแบบปิดสนิท (เช่นกล่องแบบแข็งสำหรับเดินทาง ซึ่งทำความสะอาดได้ง่ายกว่า) และไม่วางอุปกรณ์อย่างกระจัดกระจายบนพื้น  

หากเป็นไปได้ควรหาแผ่นพลาสติกคลุมอุปกรณ์ขณะใช้งาน เพื่อลดการติดเชื้อของอุปกรณ์ขณะสัมผัสพื้นผิวต่างๆ และยังช่วยให้ทำความสะอาดง่ายขึ้นด้วย

นำแบตเตอรีสำรองที่ชาร์จมาแล้วติดตัวขณะปฎิบัติงาน หลีกเลี่ยงการชาร์จไฟนอกสถานที่เนื่องจากการสัมผัสพื้นผิวในบางพื้นที่อาจเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อ

ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ เช่นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หัวเสียบอุปกรณ์ หูฟัง ฮาร์ดไดร์ฟ กล้อง บัตรประจำตัวสื่อ สายคล้องคอ ฯลฯ ด้วยแผ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างทั่วถึง

ตรวจสอบให้มั่นใจว่าอุปกรณ์แต่ละชิ้นผ่านการทำความสะอาดแล้ว ก่อนนำกลับไปเก็บในห้องเก็บอุปกรณ์ ควรมีผู้ตรวจสอบดูแลอุปกรณ์ว่าได้รับการเก็บอย่างเหมาะสม ไม่กระจัดกระจายบนพื้น และมีระบบตรวจสอบผู้เบิกอุปกรณ์แต่ละวันโดยละเอียด

ควรทำความสะอาดยานพาหนะที่นำไปใช้รายงานข่าว โดยเฉพาะบริเวณที่จับประตู พวงมาลัย กระจกมองข้าง เบาะรองศีรษะ เข็มขัดนิรภัย แผงคอนโซล และปุ่มกดต่างๆ ที่มีการใช้ผิวสัมผัสร่วมกัน

วิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ข้อแนะนำต่อไปนี้เป็นวิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไป ผู้ปฏิบัติงานต้องศึกษาวิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์เพิ่มเติมจากคำแนะนำของผู้ผลิตอุปกรณ์ก่อนลงมือทำความสะอาด

● ถอดปลั๊กไฟ และการเชื่อมต่อไฟของทุกอุปกรณ์

● ห้ามใช้ของเหลวทำความสะอาดอุปกรณ์โดยตรง และห้ามใช้สเปรย์น้ำ สารฟอกขาว และสารประเภทกัดกร่อน เนื่องจากสารเหล่านี้จะสร้างความเสียหายกับอุปกรณ์

● ห้ามพ่นสเปรย์ทำความสะอาดลงไปที่ตัวอุปกรณ์โดยตรง

● ใช้ผ้าลินินแบบเนื้ออ่อน ผ้าที่มีเนื้อเบา หรือผ้าที่มีเนื้อเรียบในการทำความสะอาดอุปกรณ์

● ใช้ผ้าที่เปียกหมาด แต่ไม่ชื้นจนเกินไป ผสมกับสบู่อ่อนๆ และถูอุปกรณ์ด้วยมือ

● ถูอุปกรณ์ไปตามซอกมุมต่างๆ หลายๆ ครั้ง

● อย่าให้ความชื้นเข้าไปบริเวณช่องต่างๆ (เช่นช่องชาร์จอุปกรณ์ ช่องเสียบหูฟัง คีย์บอร์ด หรือช่องเสียบอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ) 

● เช็ดอุปกรณ์ให้แห้งด้วยผ้าแห้งผิวนุ่ม

● ผู้ผลิตอุปกรณ์บางรายแนะนำให้ใช้แอลกอฮอล 70% ทำความสะอาดพื้นผิวแข็งของอุปกรณ์ได้

● ตรวจสอบกับผู้ผลิตอุปกรณ์ก่อนทำความสะอาด เนื่องจากการทำความสะอาดด้วยวิธีการข้างต้นอาจสร้างความเสียหายกับอุปกรณ์บางประเภทได้

ตรวจสอบขั้นตอนการทำความสะอาดเพิ่มเติมได้ จากบทความนี้

ความปลอดภัยทางดิจิทัล

● นักข่าวควรใช้ความระมัดระวังในการและการถูกโจมตีการนำเสนอข้อมูล และรายงานข่าวการแพร่ระบาดของ COVID-19 บนช่องทางออนไลน์ ท่านสามารถอ่านวิธีการป้องกันตนเองจากการถูกโจมตีได้จาก CPJ

● ปัจจุบันรัฐบาลในหลายประเทศ และบริษัทเทคโนโลยีบางแห่งมีการใช้เครื่องมือสอดส่องเพื่อหาข้อมูลการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 หนึ่งในนั้นคือสปายแวร์ชื่อ Pegaus ซึ่งพัฒนาโดย NSO Group จากการตรวจสอบของ Citizen Lab พบว่าสปายแวร์ตัวนี้พุ่งเป้าการโจมตีไปที่นักข่าว หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งกังวลว่าวิธีลักษณะนี้อาจถูกใช้ต่อไป แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะคลี่คลายลง ดังนั้นหน่วยงานระดับสากลหลายแห่งจึงเร่งตรวจสอบและติดตามการกระทำเหล่านี้ทั่วโลก สามารถตรวจสอบได้ทาง เว็บไซต์

● ปัจจุบันมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสในช่วงนี้ส่งข้อความหลอกลวงเกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งพบเห็นได้บ่อยครั้ง คุณควรหยุดคิดก่อนเปิดลิงค์หรือดาวน์โหลดข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เนื่องจาก Electronic Frontier Foundation พบว่าไฟล์เหล่านี้อาจมีการแอบติดตั้งมัลแวร์เข้าไปในอุปกรณ์ของคุณ และระมัดระวังในการคลิกลิงค์ต่างๆ บนสื่อโซเชียลที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เนื่องจากบางเว็บไซต์อาจส่งต่อคุณไปยังลิงค์ที่มีมัลแวร์

● รายงานจากสำนักข่าว The Guardian เตือนให้ระมัดระวังเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข่าวสารอันเป็นเท็จ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในบางประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศเตือน และสำนักข่าว BBC เคยเน้นย้ำ โดยศึกษาได้จากคู่มือการตรวจสอบข้อมูลเท็จของ WHO 

● ทำความเข้าใจกฎความเป็นส่วนตัวของห้องประชุมออนไลน์ที่เข้าใช้ให้แน่ชัดว่าบริการเหล่านี้นำข้อมูลของคุณไปทำอะไรบ้าง ระบบมีความปลอดภัยแค่ไหน และโปรดระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพ หรือแฮกเกอร์ที่ฉวยโอกาสในช่วงที่หลายคนเลือกทำงานที่บ้านมากขึ้น

● โปรดระมัดระวังการนำเสนอข่าวในประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เนื่องจากประเทศเหล่านี้อาจใช้อำนาจตรวจสอบ และควบคุมการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลบางประเทศอาจเซ็นเซอร์เนื้อหา หรือปกปิดข้อมูลตามรายงานของ CPJ

อาชญากรรมและความปลอดภัยต่อร่างกายขณะปฏิบัติงาน

● หากคุณสามารถเดินทางไปทำภารกิจในต่างประเทศได้ (ดูรายชื่อ) คุณควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยล่าสุดในพื้นที่ บางพื้นที่อาจจะมีการชุมนุม หรือการประท้วงที่มีความรุนแรงตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของเชื้อ ผู้สื่อข่าวบางคนถูกด่าทอ ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกคุกคาม ดังนั้นประมาทไม่ได้

● โปรดระมัดระวังการปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชนห่างไกล เนื่องจากประชาชนบางพื้นที่มักจะหวาดระแวงผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ว่าอาจจะนำพาเชื้อ COVID-19 เข้ามายังชุมชน

● โปรดระมัดระวังว่าในบางพื้นที่ตำรวจอาจตอบโต้ผู้ฝ่าฝืนมาตรการปิดเมืองจาก COVID-19 ด้วยความรุนแรง เช่นการใช้กระสุนยาง กระสุนจริง หรือแก๊สน้ำตา

● จากรายงานของ CPJ พบว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการอาจใช้ช่องทางในการจับกุมผู้ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับ COVID-19 ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานควรระมัดระวังขณะอยู่ในพื้นที่

การปฏิบัติงานในต่างประเทศ

สถานการณ์ในปัจจุบันส่งผลให้การเดินทางไปต่างประเทศยังคงมีความยากลำบาก หากคุณจำเป็นต้องเดินทางไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ คุณควรทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

● ตรวจสอบว่าพื้นที่ดังกล่าวห้ามไม่ให้เดินทางเข้าออกหรือไม่ ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยเราไม่ทราบล่วงหน้า

● ติดตามข้อมูลข่าวสาร มาตรการปิดเมือง หรือ เคอร์ฟิวที่อาจแตกต่างกันไปแต่ละประเทศ ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ดังนั้นคุณควรตรวจสอบข่าวสารในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

บางพื้นที่อาจนำมาตรการกักตัวกลับมาใช้โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า บางประเทศอาจใช้มาตรการกักตัวกับผู้ที่เดินทางกลับมาจากบางประเทศ เช่นสหราชอาณาจักรใช้มาตรการกักตัวกับผู้ที่เดินทางมาจากสเปน ตามเนื้อหาข่าวนี้

ตรวจสอบสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงที่ยังคงเปิดให้บริการ เนื่องจากบางครั้งอาจเกิดการประท้วงของบุคลากรทางการแพทย์โดยไม่อาจทราบล่วงหน้าได้

ในบางพื้นที่อุปกรณ์ป้องกันตัวทางการแพทย์ หรือ PPE อาจมีจำนวนจำกัด หรืออาจจะมีคุณภาพต่ำ ดังนั้นคุณควรเตรียมอุปกรณ์นี้ล่วงหน้าก่อนปฏิบัติงาน และเตรียมอุปกรณ์สำรองติดตัวไปหากจำเป็น

หากเป็นไปได้ควรรับการฉีดวัคซีนโควิดก่อนปฏิบัติงาน และควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ตามสถานการณ์ของพื้นที่ที่เดินทางไป

● ตรวจสอบรายละเอียดของประกันการเดินทางให้ถี่ถ้วน เนื่องจากประกันการเดินทางบางประเภทอาจไม่ครอบคลุมการรักษา COVID-19 และรัฐบาลในหลายประเทศออกคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อความคุ้มครองของประกันการเดินทาง

● ตรวจสอบสถานะของงานที่คุณจะเข้าร่วม พึงระลึกไว้เสมอว่าในหลายประเทศสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมกันในที่สาธารณะ หรือห้ามไม่ให้ชุมนุมเกินจำนวนที่กำหนด

● ตรวจสอบมาตราการปิดด่านชายแดน และมาตรการห้ามการเดินทางเข้าออกของสถานที่ที่จะเดินทางไป ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

● งดเดินทางหากคุณมีอาการป่วย เนื่องจากสนามบินในหลายประเทศเริ่มบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดในการตรวจการเดินทางเข้า-ออก หากคุณป่วย คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ หรือถูกกักบริเวณได้

● ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้สายการบินหลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน ตามรายงานฉบับนี้ ดังนั้นคุณควรซื้อตั๋วเครื่องบินแบบคืนเงินได้เต็มจำนวน

● ตรวจสอบข้อกำหนดด้านวีซ่าของสถานที่ที่จะเดินทางไป เนื่องจากหลายประเทศเริ่มหยุดออกวีซ่า หรือยกเลิกวีซ่าให้กับชาวต่างชาติ

● บางประเทศจำเป็นต้องดูใบรับรองแพทย์ซึ่งระบุว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อ COVID-19

● ควรมีแผนการเดินทางที่ยืดหยุ่น และควรเผื่อเวลาไปถึงสนามบิน สถานีรถไฟ ท่าเรือ และสถานีขนส่งต่างๆ เนื่องจากหลายสนามบินเพิ่มมาตรการตรวจและคัดกรองผู้ป่วยก่อนใช้บริการ

หลังจากปฏิบัติงานเสร็จ

● เฝ้าระวังอาการป่วยหลังจากกลับมาจากการปฏิบัติงาน

ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานภาครัฐหากคุณจำเป็นต้องแยกตัวเมื่อเดินทางกลับมาจากพื้นที่ความเสี่ยงสูง

● ตรวจสอบสถานการณ์ และข้อมูล COVID-19 ล่าสุด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการกักตัวจากพื้นที่เสี่ยงที่คุณเดินทางกลับมา และพื้นที่ที่คุณพักอาศัย

● ควรจดบันทึกรายชื่อ และจำนวนคนที่คุณติดต่อหรือสัมผัสในช่วง 14 วันนับตั้งแต่เดินทางกลับ วิธีนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังการติดเชื้อได้

หากคุณมีอาการป่วย: 

  • ไม่ควรออกจากที่พักอาศัยอย่างน้อย 7 วันนับแต่มีอาการป่วย (เวลาสังเกตอาการขึ้นอยู่กับคำแนะนำของหน่วยงานท้องถิ่น) เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ชุมชนและผู้อื่น
  • วานให้เพื่อนหรือครอบครัวซื้ออาหารหรือเครื่องใช้จำเป็น และให้วางสิ่งของเหล่านั้นหน้าประตูห้อง หรือประตูบ้าน
  • เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นตามคำแนะนำของหน่วยงานท้องถิ่น และนอนคนเดียวหากเป็นไปได้

คุณสามารถตรวจสอบคู่มือความปลอดภัยของนักข่าว และกองบรรณาธิการข่าว จัดทำโดย CJP ไม่ว่าจะเป็นคู่มือแบบเล่ม คู่มือดิจิทัล คู่มือด้านสภาพจิตใจ และข้อมูลต่างๆ ด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น การรับมือสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และการรับมือการรายงานผลการเลือกตั้ง

[หมายเหตุ: คำแนะนำนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2020 และมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ตรวจสอบวันที่เผยแพร่คำแนะนำนี้ล่าสุดบริเวณด้านบนของเอกสาร]